Future Ed.

มหาวิทยาลัยออนไลน์ ..ปฏิวัติการศึกษา !!!
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:25:51 น.
มติชนสุดสัปดาห์ แลไปข้างหน้า  ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com

เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวข่าวคราวของรถยนต์ไร้คนขับของกูเกิ้ลกันมาบ้างไม่มากก็น้อย จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กูเกิ้ลประกาศว่ารถยนต์อัจฉริยะวิ่งได้เองโดยไม่ต้องอาศัยคนขับผ่านการวิ่งมาแล้ว 300,000 ไมล์โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ
และถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมามีสามรัฐของอเมริกาที่อนุญาตให้รถไร้คนขับวิ่งได้บนท้องถนน ได้แก่ เนวาด้า, แคลิฟอร์เนีย และฟลอริด้า
คีย์แมนที่อยู่เบื้องหลังรถไร้คนขับของกูเกิ้ลคือ เซบาสเตียน ทรุน ศาสตราจารย์ด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งสแตนฟอร์ด
ซึ่งสองปีหลังจากชนะเลิศในการประกวดรถยนต์ไร้คนขับจากดาร์ปร้าในปี 2005 และได้เงินรางวัลมา 2 ล้านเหรียญ จากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ก็ลาออกจากสแตนฟอร์ดไปทำงานให้กูเกิ้ล
นอกจากรถยนต์ไร้คนขับแล้ว ทรุนยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการสำคัญใหม่ๆ หลายอย่างของกูเกิ้ล เช่น กูเกิ้ล สตรีต วิว, แว่นตาความเป็นจริงเสมือน และโครงการห้องปฏิบัติการลับสุดยอด กูเกิ้ล เอ็กซ์
และสุดท้ายคือโครงการใหม่ที่ทรุนบอกว่ามันคืออนาคต หรืออีกนัยหนึ่งคือภารกิจที่เขาเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม อนาคตที่ว่านั้นไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคใดๆ แต่มันคือ "การศึกษา" หรือกล่าวให้เจาะจงยิ่งขึ้นก็คือการศึกษาออนไลน์ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งที่เขาเคยทำๆ มาทั้งหมด
การศึกษาออนไลน์ที่เข้าถึงคนได้อย่างขนานใหญ่ที่เปิดเสรีสำหรับทุกคน
ในทัศนะของเขาเห็นว่าเทคโนโลยีนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการอื่นๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง สิ่งพิมพ์ การขนส่ง การค้าปลีก คราวนี้ถึงตาของการศึกษาบ้างละ
เขาเชื่อว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีอะไรให้ต้องสงสัย โดยเฉพาะการศึกษาขั้นสูง

มหาวิทยาลัยออนไลน์ ..ปฏิวัติการศึกษา !!!

เมื่อปีที่แล้วทรุนกับนักหุ่นยนต์อีกสองคนร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยออนไลน์ขึ้นชื่อว่ายูแดซิตี้ (Udacity) เสนอหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ผ่านมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จนถึงปัจจุบันมีหลักสูตรออนไลน์อยู่ถึง 15 หลักสูตร หลักสูตรแรกที่เปิดคือปัญญาประดิษฐ์มีผู้สมัครเรียนถึง 160,000 คน ผู้สมัครเรียนออนไลน์มีมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
คนเหล่านี้ได้เรียนเหมือนกันกับนักศึกษาสแตนฟอร์ดในหลักสูตรเดียวกัน 200 คน รวมทั้งจะจบหลักสูตรได้ใบรับรองกฎต้องผ่านการสอบแบบเดียวกัน
ซึ่งก็ใช่ว่าจะง่ายเพราะจากผู้เรียนเป็นแสนนั้นมีจบหลักสูตรมาเพียง 23,000 คน อย่างไรก็ตาม คนที่ได้คะแนนสูงสุด 400 คน เป็นผู้เรียนออนไลน์
พิจารณาจากตัวเลขผู้เรียนและผู้เรียนจบหลักสูตรแล้ว จะพบว่าแนวทางการศึกษาออนไลน์นี้เปิดโอกาสให้กับคนได้อย่างกว้างขวางสมกับที่เรียกว่าเป็นการศึกษาแบบขนานใหญ่
เพราะหากเรียนตามระบบปกติจะมีนักศึกษาในหลักสูตรซึ่งไปเรียนที่สแตนฟอร์ดจริงๆ แค่ 200 คน ซึ่งตอนจบอาจจะไม่ถึง
ทว่า ยูแดซิตี้กลับทำให้มีคนมีโอกาสเรียนจากที่ไหนก็ได้จนผ่านหลักสูตรรวมแล้วมากกว่าสองหมื่นคน
ยูแดซิตี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นในการพยายามสร้างมหาวิทยาลัยออนไลน์เพื่อให้คนจากทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงได้โดยไม่ได้ตั้งเป้าจะทำธุรกิจการศึกษา แต่หัวใจของมันอยู่ที่ตัวการศึกษาแท้ๆ
เหมือนอย่างที่ยูแดซิตี้เชื่อว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้เอื้อให้เราเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูง ค่าใช้จ่ายต่ำได้ ไม่ใช่เป็นตรงกันข้ามเฉกเช่นหลายมหาวิทยาลัยที่มีอาคารตั้งตระหง่าน


ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355131657&grpid=03&catid=03